นโยบายและเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน

บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดนโยบายการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน โดยครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ และสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของบริษัท ในขั้นตอนการดำเนินธุรกิจของบริษัท ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อกำหนด ข้อบังคับและระเบียบต่างๆ อีกทั้งการรักษาความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และการลดผลกระทบจากการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ (Value Chain) อีกทั้งยังใช้ประโยชน์จากจุดแข็งขององค์กร และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างนวัตกรรมและการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับสังคม ชุมชนและการให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยวิสัยทัศน์และพันธกิจ เพื่อพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ และแผนธุรกิจที่ได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มจีเอเบิล

การพัฒนาด้านมิติเศรษฐกิจ

บริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรที่มีการกํากับดูแลกิจการที่ดี ดำเนินธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ เป็นธรรม มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ตลอดจนจัดให้ระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่กิจการโดยคํานึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม อีกทั้งบริษัทยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการ โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า ซึ่งบริษัทมีกลยุทธ์ในการพัฒนาการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับคู่ค้าโดยผ่านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่มีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าของบริษัท

การพัฒนาด้านมิติสังคม

บริษัทมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงให้แก่สังคม ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม โดยเริ่มจากการพัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะ และศักยภาพของพนักงาน เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพสู่สังคม สร้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อการสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน อีกด้วย บริษัทมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืนโดยมีหลักปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้

  • มีการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ
  • มีการดำเนินแผนการพัฒนาความผูกพันของพนักงาน และวัดผลประเมินความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรอย่างสม่ำเสมอ
  • สร้างความสัมพันธ์อันดีกับสังคม ชุมชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแบ่งปันความรู้ด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการเติบโตของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • บำเพ็ญประโยชน์ให้กับชุมชน ผ่านโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ต่างๆ ของบริษัท
อ่านต่อ

การพัฒนาด้านมิติสิ่งแวดล้อม

บริษัทเชื่อมั่นว่าความสำเร็จของการประกอบธุรกิจขึ้นอยู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม ซึ่งบริษัทตระหนักดีว่า การดำเนินธุรกิจจะส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น บริษัทจึงมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงและโอกาสในการลดต้นทุนในการทำธุรกิจ เพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น และเพื่อให้มั่นใจว่าได้รักษาสิ่งแวดล้อมไว้สำหรับคนรุ่นต่อไป บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมชุมชนที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่โดยประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและปฏิบัติตามกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นไปตามหลักการของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังนั้น บริษัทให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการสร้างความตระหนักให้บุคลากรของบริษัทมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัทวางโครงสร้างการบริหารงานด้านการพัฒนาความยั่งยืน โดยประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะกรรมการมอบหมายให้คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ทำหน้าที่ สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัท เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

บริษัทมีการกำหนดกระบวนการประเมินประเด็นด้านความยั่งยืนที่สำคัญ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ในระยะยาวขององค์กร รวมถึงมีการพิจารณาร่วมกับความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและมาตรฐานด้านความยั่งยืนในระดับสากล โดยมีกระบวนการ ดังนี้

การวิเคราะห์และระบุประเด็นที่สำคัญ

บริษัทระบุประเด็นที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกองค์กร โดยพิจารณาจากความเสี่ยงและโอกาสของแผนธุรกิจบริษัท แนวโน้มอุตสาหกรรมเดียวกันกับบริษัท ตลอดจนความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ของบริษัทที่รับผิดชอบ รวมถึงประเด็นด้านความยั่งยืนในระดับประเทศและในระดับโลก เช่น เป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : UN SDGs) เป็นต้น

การจัดลำดับประเด็นที่สำคัญ

บริษัทจัดลำดับความสำคัญในแต่ละประเด็น พร้อมกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว โดยมีการวิเคราะห์ในแต่ละประเด็น เพื่อเผชิญกับการแข่งขันหรือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความสามารถในการปรับตัวขององค์กร เพื่อนำองค์กรไปสู่ความยั่งยืนและความก้าวหน้า ซึ่งบริษัทได้มีการประเมินประเด็นที่สำคัญ โดยมีฝ่ายจัดการให้ความเห็น รวมถึงมีการสอบถามประเด็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอีกด้วย

การจัดทำแผนงานและกำหนดผู้รับผิดชอบ

บริษัทจะรวบรวมผลการประเมินประเด็นที่สำคัญ เพื่อจัดทำผลสรุปของประเด็นที่สำคัญต่อบริษัท และจัดทำแผนงานพร้อมระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบ

การติดตามและประเมินผล

บริษัทจะทบทวนผลการประเมินประเด็นที่สำคัญ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของบริษัท ตลอดจนจัดให้มีการควบคุม ติดตาม ดูแล อย่างต่อสม่ำเสมอ เพื่อให้บรรลุแผนการพัฒนาด้านความยั่งยืนที่ได้กำหนดไว้

บริษัทกำหนดกระบวนการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน เพื่อสะท้อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการสร้างคุณค่าจากการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมถึง ผลกระทบต่อความต้องการความคาดหวัง และการตัดสินใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนโดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ความสำคัญของประเด็นด้านความยั่งยืนต่อการดำเนินงานขององค์กร และความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยพิจารณาโอกาสและผลกระทบต่อการสร้างคุณค่าของบริษัท โดยครอบคลุมด้านการเงิน กระบวนการทางธุรกิจ และการปฏิบัติการ ชื่อเสียงองค์กร ผลกระทบต่อลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน รวมถึงระดับความสนใจ ผลกระทบและความสำคัญต่อการสร้างคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยมีผลการประเมินระดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ดังนี้

ผลการจัดลำดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

เป้าหมายการพัฒนาด้านความยั่งยืน

บริษัทให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : UN SDGs) จำนวน 14 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 8, 9, 10, 11, 12, 13, 16 และ 17 เพื่อสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

มิติเศรษฐกิจ

สร้างการเติบโตและผลตอบแทนอย่างยั่งยืน

  • การกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม
  • การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
  • นวัตกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์และ บริการที่เป็นเลิศ
มิติสังคม

สร้างคุณภาพชีวิตและสร้างสังคมที่ยั่งยืน

  • การเป็นองค์กรที่ดีของสังคม
  • หลักสิทธิมนุษยชน
  • การพัฒนาและรักษาบุคลากร
  • ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย
มิติสิ่งแวดล้อม

สร้างความตระหนักและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

  • การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม